โรคจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Disease caused by pesticides)

โรคจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช

โรคจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Disease caused by pesticides)

สารเคมีกำจัดศัตรูพืชสามารถจำแนกได้หลายรูปแบบทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการใช้ ซึ่งปัจจุบันสามารถจำแนกได้หลายจำพวกได้ดังนี้


2.1 จำแนกโดยสภาพการออกฤทธิ์ภายในและภายนอกเซลล์พืช มีได้ 2 ชนิดคือ

  2.1.1 สารกำจัดศัตรูพืชประเภทสัมผัสตาย (contact pesticide) หรือ ประเภทที่ไม่ดูดซึม(nonsystemic) สารประเภทนี้จะฉาบเคลือบอยู่ที่ผิวภายนอกของเซลพืช ออกฤทธิ์โดยการสัมผัสกับกลุ่ม เป้าหมาย

  2.1.2 สารกำจัดศัตรูพืชประเภทดูดซึม (systemic pesticide) จะออกฤทธิ์โดยการดูดซึมเข้าสู่เซลพืช และมีกลไกการออกฤทธิ์ทำลายหลังจากการดูดซึมเข้าไปแล้ว

 2.2  จำแนกโดยอาศัยกลุ่มเป้าหมาย หรือตามชนิดของศัตรูพืช ได้แก่ สารที่ใช้ป้องกันกำจัดไร (acarides) สารที่ใช้ป้องกันกำจัดสาหร่าย (algicides) สารที่ใช้ป้องกันกำจัดเพลี้ย (aphicides) สารที่ใช้ป้องกันกำจัดนก (avicides) สารที่ใช้ป้องกันกำจัดแบคทีเรีย (bacteriocides) สารที่ใช้ป้องกันกำจัดเชื้อรา เชื้อโรคพืช (fungicides) สารที่ใช้ป้องกันกำจัดวัชพืช (herbicides) สารที่ใช้ป้องกันกำจัดแมลง (insecticides) สารที่ใช้ป้องกันกำจัดหอย (molluscicides) สารที่ใช้ป้องกันกำจัดไส้เดือนฝอย(nematocides) สารที่ใช้ป้องกันกำจัดปลา (piscicides) สารที่ใช้ป้องกันกำจัดหนู (rodenticides) สา รที่เป็นก๊าซใช้ป้องกันกำจัดแมลง เชื้อโรคพืชและหนู (fumigant)

 2.3. จำแนกโดยโครงสร้างและองค์ประกอบทางเคมีของสารได้แก่

  2.3.1. สารกลุ่มออร์กาโนคลอรีน (Organochlorine compounds) สารกลุ่มนี้จะมีคลอรีนเป็นส่วนประกอบที่สำคัญ เป็นสารที่สามารถละลายได้ดีในไขมัน และละลายในน้ำได้น้อย ทำให้สามารถคงทนอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นาน เช่น ดีดีที สามารถสะสมในดินได้นานถึง 30ปี ดีลดริน (Dieldrin) 25ปี และลินเดน (Lindane) 10ปี เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ สารกลุ่มนี้จึงทำให้เกิดปัญหาพิษตกค้างสะสมในพืช สัตว์ห่วงโซ่อาหาร (food chain) และสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้สารเหล่านี้ยังสามารถเปลี่ยนเป็นสารชนิดใหม่ที่ยังมีความเป็นพิษอยู่ (metabolites) สารกลุ่มนี้มักนำมาใช้ในการป้องกันกำจัดแมลง และศัตรูพืชอื่นๆ มีผลต่อระบบประสาทในแมลง และสัตว์เลือดอุ่น  ได้แก่ ดีดีที, ไดโคฟอล, เมทอกซีคลอร์, อัลดริน,ลินเดน

  2.3.2 สารกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต (Organophosphate compound) สารกลุ่มนี้เป็นสารที่มี ฟอสฟอรัสเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ และเป็นสารที่ละลายได้ดีในน้ำ สลายตัวได้ง่ายในธรรมชาติ จึงมีพิษ ตกค้างน้อย มีประสิทธิภาพในการป้องกันกำจัดศัตรูพืชได้สูง บางชนิดมีความเป็นพิษต่อสัตว์เลือดอุ่นน้อย บางชนิดก็มีความเป็นพิษต่อคน และสัตว์ที่มีกระดูกสันหลัง โดยมีความเป็นพิษต่อการทำงานของเอนไซม์ในระบบประสาท คือ โคลีนเอสเตอเรส (Cholinesterase) บางชนิดสามารถถูกดูดซึมอยู่ในพืชได้นาน เช่น พาราไธออน ,Malathion, Trichlorfon, Elthyl Parathion,TEPP

  2.3.3  สารกลุ่มคาร์บาเมต (Carbamate Compound) เป็นเอสเทอร์และมีไนโตรเจนเป็น องค์ประกอบสำคัญ  ละลายได้ดีสารละลายอินทรีย์ (Organic solvent) บางชนิดละลายได้ดีในน้ำ ส่วนใหญ่ สารกลุ่มนี้ใช้ในการป้องกันกำจัดแมลง เชื้อโรคพืช และหอยต่างๆ มีคุณสมบัติคล้ายกับกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต คือไม่สะสมในสิ่งมีชีวิต และมีผลต่อการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์โคลีนเอสเตอเรส และสามารถดูดซึมอยู่ ในพืชได้นาน เช่น Carbaryl,Carbofuran,Methomyl, อัลดิคาร์บ เป็นต้น

  2.3.4 สารกลุ่มไพรีทรอยด์ (Synthetic Pyrethroids) เป็นสารที่ได้จากธรรมชาติ มีคุณสมบัติ สลายตัวได้ง่ายเป็นสารที่มีพิษตกค้างน้อยที่สุด มักใช้ร่วมกับสารกำจัดแมลงชนิดอื่นๆ ได้แก่ Pyrethrins, Resmethrin, Cypermethrin เป็นต้น

ลักษณะงานและอาชีพที่เสี่ยง
คนงานที่ประกอบอาชีพในอุตสาหกรรมสารเคมีกำจัดศัตรูพืช เกษตรกร การทำสวน การฉีดพ่นสารกำจัดศัตรูพืช

อันตรายต่อระบบอวัยวะที่สำคัญของร่างกาย
สารกำจัดศัตรูพืชสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ 3 ทาง คือ การหายใจ ทางผิวหนัง และทางปาก

  • การหายใจ  สารเคมีกำจัดแมลงที่เข้าสู่ร่างกายทางระบบการหายใจนั้นาจอยู่ในรูปฝุ่นหรือสารละลายฝุ่นที่มีขนาดเล็กจะเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจมากกว่าฝุ่นที่มีขนาดใหญ่สำหรับสารเคมีในรูปสารละลายนั้น  ขึ้นอยู่กับว่าความสามารถในการระเหยเป็นไอของสารเคมีนั้นสูงหรือไม่   ถ้าสูงจะเกิดอันตรายได้มากขึ้น  เช่น  สารในกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต  นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับความสามารถในการละลายเข้าสู่ระบบเลือดในร่างกายอีกด้วย ก็จะได้รับอันตรายสูง 
  • ทางผิวหนัง  การดูดซึมของสารเคมีผ่านทางผิวหนังเกิดการฉีดขาด  หรือมีบาดแผลอยู่จะมีการดูด สารได้ดีกว่าผิวหนังปกติ  นอกจากนี้ความสามารถในการละลายซึมผ่านผิวหนังของสารถ้าสารละลายได้ดีใน ไขมันจะถูกดูดซึมได้ดี เช่น สารในกลุ่มคลอริเนตเตตไฮโดรคาร์บอน ทั้งนี้ถ้าฝุ่นของสารมีขนาดเล็กจะถูกดูด ซึมได้ดีเหมือนในรูปสารละลาย  ส่วนสารเคมีที่มีขนาดใหญ่จะไม่ถูกดูดซึมผ่านผิวหนังเลย  สำหรับสารในกลุ่ม ออร์กาโนฟอสเฟตจะถูกดูดซึมผ่านผิวหนังได้ดีมากขณะที่อากาศร้อนจัด เกษตรกรจึงไม่ควรถอดเสื้อผ้าขณะ ฉีดพ่นสารเคมีในเวลาเที่ยงหรือเวลา  แดดจัดโดยเด็ดขาด
  • ทางปาก การกลืนกินโดยตรง หรือมีส่วนผสมของสารละลายเจือจาง

สารออร์กาโนฟอสเฟต มีฤทธิ์ขัดขวางการทำงานของระบบประสาทส่วนกลาง และระบบประสาท รอบนอก โดยจะจับกับตัวเอ็นไซม์โคลีนเอสเตอเรส ซึ่งมีหน้าที่ส่งสัญญาณประสาทหยุดการทำงาน ผลการจับ ตัวกับเอ็นไซม์ทำให้ปริมาณของเอ็นไซม์ ลดลง และมีผลต่อกล้ามเนื้อต่าง ๆ ต่อมต่าง ๆและกล้ามเนื้อเรียบซึ่ง ควบคุมอวัยวะต่าง ๆ ในการทำงานมากกว่าปกติ เนื่องจากปริมาณเอ็นไซม์โคลีนเอสเตอเรสมีไม่มากพอที่จะ หยุดการทำงาน พบอาการ ม่านตาหรี่ หายใจลำบาก เวียนศีรษะ อาเจียน มือสั่น เดินโซเซ ชัก หมดสติ ระบบกล้ามเนื้อพบอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง ตะคริวที่กล้ามเนื้อ  ต่อมต่าง ๆ ต่อมน้ำลายขับน้ำลายออกมา มาก ต่อมเหงื่อขับเหงื่อออกมามาก

สารคาร์บาเมต สารในกลุ่มนี้มีการออกฤทธิ์คล้ายคลึงกับสารออร์กาโนฟอสเฟต  แต่ความเป็นพิษน้อยกว่า อาการที่เกิดขึ้นเหมือนกับการได้รับสารออร์กาโนฟอสเฟต ยกเว้นอาการชัก ไม่รู้สึกตัวเกิดขึ้นน้อย

สารออร์กาโนคลอรีน สารกลุ่มนี้ถูกดูดซึมที่ผิวหนัง เมื่อได้รับมาก ๆจะทำให้ระบบประสาทส่วนกลาง ถูกขัดขวาง  พบอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ

สารไพรีทรอยด์ เป็นสารที่มีความไวทางชีวภาพสูง และใช้แบบเจือจาง สารกลุ่มนี้ถูกกำจัดออกจาก ร่างกาย ไม่ถูกสะสมอยู่ในร่างกาย พบอาการชา หายใจเร็วตื้น เจ็บคอ คอแห้ง แสบจมูก คันตามผิวหนัง  ท้องเสีย น้ำลายไหลมาก  หนังตากระตุก เดินโซเซ 

สารกำจัดวัชพืช เช่น สารพาราควอท ที่ออกฤทธิ์เร็วและจะเสื่อมฤทธิ์ทันทีเมื่อตกถึงพื้นดิน สารนี้ ละลายน้ำและแอลกอฮอล์ได้ดี ไม่มีสี มีกลิ่นอ่อน ๆ คล้ายกลิ่นแอมโมเนีย สารนี้มีพิษต่อผิวหนัง และเยื่อเมือกพบอาการผิวหนังแห้งแตก ผื่นแดง เป็นแผล เล็บซีดขาว เล็บเปราะ ระบบหายใจ พบอาการไอ เลือดกำเดาไหล เจ็บคอ หากรับประทานเข้าไปทำให้เกิดพังผืดที่ปอด การหายใจล้มเหลว

สารเคมีกำจัดหนู เช่น ซิงค์ฟอสไฟต์ มีความเป็นพิษมาก เมื่อถูกน้ำและกรดในกระเพาะอาหารเกิดปฏิกิริยาได้ก๊าซพิษฟอสฟีน ทำลายเซลล์กระเพาะอาหาร ตับ ไต การดูดซึมเข้าสู่ร่างกายทำให้มีน้ำคั่งในปอด ปวดศีรษะ หายใจขัด ความดันโลหิตสูง อาจทำให้เสียชีวิตภายในระยะเวลา 2-3 ชั่วโมง

สารไธโอคาร์บาเมต เป็นสารกลุ่มรักษาโรคพืช ลักษณะอาการเกิดขึ้นมีลักษณะเหมือนไพรีทรอยด์ ทางเดินหายใจพบอาการ คอแห้ง แสบจมูก ไอ ตาพบอาการเคืองตา  ตาแดง ผิวหนัง พบอาการคันผิวหนัง มีจุดขาวที่ผิวหนัง ผื่นแดง

การวินิจฉัยโรคเพื่อการรายงาน
1. มีอาการและอาการแสดงของโรคชัดเจน 
2. มีประวัติการสัมผัส โดยทำงานที่ใช้สารกำจัดศัตรูพืช 
3. มีการตรวจทางห้องปฏิบัติการแสดงอาการของโรค หรือแสดงว่ามีการสัมผัส 
4. มีข้อมูลสิ่งแวดล้อมสนับสนุนว่ามีความเข้มข้นของสารกำจัดศัตรูพืชเกินค่ามาตรฐาน

การตรวจทางห้องปฏิบัติการ
1. การตรวจระดับเอ็นไซม์โคลีนเอสเตอเรสในเลือด 
2. การตรวจหน้าที่การทำงานของตับ ไต ตรวจเลือด ตรวจคลื่นสมอง

มาตรฐานทางด้านสภาพแวดล้อมการทำงาน
ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับภาวะแวดล้อม(สารเคมี) ตามประกาศของคณะปฎิวัติ ฉบับที่ 103 ลงวันที่ 16 มีนาคม 2515 กำหนดให้ตลอดระยะเวลาทำงานปกติ ภายในสถานประกอบการที่ให้ลูกจ้างทำงาน จะมีปริมาณความเข้มข้นของ

  1. อัลดรินในบรรยากาศการทำงานโดยเฉลี่ยเกินกว่า 0.25 มิลลิกรัมต่ออากาศ หนึ่งลูกบาศก์เมตรมิได้
  2. อะซินฟอส-เมธิลในบรรยากาศการทำงานโดยเฉลี่ยเกินกว่า 0.2 มิลลิกรัมต่ออากาศ หนึ่งลูกบาศก์เมตรมิได้
  3. คลอเดนในบรรยากาศการทำงานโดยเฉลี่ยเกินกว่า 0.5 มิลลิกรัมต่ออากาศ หนึ่งลูกบาศก์เมตรมิได้
  4. ดีดีทีในบรรยากาศการทำงานโดยเฉลี่ยเกินกว่า 1 มิลลิกรัมต่ออากาศ หนึ่งลูกบาศก์เมตรมิได้
  5. ดีดีวีพีในบรรยากาศการทำงานโดยเฉลี่ยเกินกว่า 1 มิลลิกรัมต่ออากาศ หนึ่งลูกบาศก์เมตรมิได้
  6. ไดคลอวอสในบรรยากาศการทำงานโดยเฉลี่ยเกินกว่า 1 มิลลิกรัมต่ออากาศ หนึ่งลูกบาศก์เมตรมิได้
  7. ดิลดรินในบรรยากาศการทำงานโดยเฉลี่ยเกินกว่า 0.25 มิลลิกรัมต่ออากาศ หนึ่งลูกบาศก์เมตรมิได้
  8. ไดบรอมในบรรยากาศการทำงานโดยเฉลี่ยเกินกว่า 3 มิลลิกรัมต่ออากาศ หนึ่งลูกบาศก์เมตรมิได้
  9. เอนดรินในบรรยากาศการทำงานโดยเฉลี่ยเกินกว่า 0.1 มิลลิกรัมต่ออากาศ หนึ่งลูกบาศก์เมตรมิได้
  10. กูไธออนในบรรยากาศการทำงานโดยเฉลี่ยเกินกว่า 0.2 มิลลิกรัมต่ออากาศ หนึ่งลูกบาศก์เมตรมิได้
  11. ตะกั่วอะซีเนทในบรรยากาศการทำงานโดยเฉลี่ยเกินกว่า 0.15 มิลลิกรัมต่ออากาศ หนึ่งลูกบาศก์เมตรมิได้
  12. ลินเดนในบรรยากาศการทำงานโดยเฉลี่ยเกินกว่า 0.5 มิลลิกรัมต่ออากาศ หนึ่งลูกบาศก์เมตรมิได้
  13. มาลาไธออนในบรรยากาศการทำงานโดยเฉลี่ยเกินกว่า 15 มิลลิกรัมต่ออากาศ หนึ่งลูกบาศก์เมตรมิได้
  14. เมธอกซีคลอในบรรยากาศการทำงานโดยเฉลี่ยเกินกว่า 15 มิลลิกรัมต่ออากาศ หนึ่งลูกบาศก์เมตรมิได้
  15. พาราไธออนในบรรยากาศการทำงานโดยเฉลี่ยเกินกว่า 0.11 มิลลิกรัมต่ออากาศ หนึ่งลูกบาศก์เมตรมิได้
  16. ฟอสดรินในบรรยากาศการทำงานโดยเฉลี่ยเกินกว่า0.1 มิลลิกรัมต่ออากาศ หนึ่งลูกบาศก์เมตรมิได้
  17. ไพรีธรัมในบรรยากาศการทำงานโดยเฉลี่ยเกินกว่า 5 มิลลิกรัมต่ออากาศ หนึ่งลูกบาศก์เมตรมิได้
  18. วาร์ฟฟารินในบรรยากาศการทำงานโดยเฉลี่ยเกินกว่า 0.1 มิลลิกรัมต่ออากาศ หนึ่งลูกบาศก์เมตรมิได้
  19. คาร์บาริลในบรรยากาศการทำงานโดยเฉลี่ยเกินกว่า 5 มิลลิกรัมต่ออากาศ หนึ่งลูกบาศก์เมตรมิได้
  20. 2,4- ดีในบรรยากาศการทำงานโดยเฉลี่ยเกินกว่า 10 มิลลิกรัมต่ออากาศ หนึ่งลูกบาศก์เมตรมิได้
  21. พาราควอทในบรรยากาศการทำงานโดยเฉลี่ยเกินกว่า 0.5 มิลลิกรัมต่ออากาศ หนึ่งลูกบาศก์เมตรมิได้
  22. 2,4,5- ทีในบรรยากาศการทำงานโดยเฉลี่ยเกินกว่า 10 มิลลิกรัมต่ออากาศ หนึ่งลูกบาศก์เมตรมิได้

 

 

Credit ข้อมูล : กองโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม-กรมควบคุมโรค-กระทรวงสาธารณสุข