การใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชอย่างปลอดภัย

การใช้สารกำจัดศัตรูพืช


   1.  เลือกใช้สารชนิดที่ถูกต้องกับชนิดของศัตรูพืช เฉพาะกรณีที่จำเป็นในปริมาณที่เพียงพอต่อการใช้ในแต่ละครั้ง
   2.  ภาชนะที่บรรจุไม่แตกหรือรั่ว มีฝาปิดมิดชิด มีฉลากถูกต้องชัดเจน ประกอบด้วยชื่อเคมี ชื่อสามัญของสารออกฤทธิ์และชื่อการค้า ระบุปริมาณของสารออกฤทธิ์และสารอื่นๆ ที่ผสม ชื่อผู้ผลิตและแหล่งผลิต วันหมดอายุ (ถ้ามี) หรือวันผลิต คำอธิบาย ประโยชน์ วิธีใช้ วิธีเก็บรักษา คำเตือน คำอธิบายอาการเกิดพิษ การแก้พิษเบื้องต้นและคำแนะนำสำหรับแพทย์


ข้อปฏิบัติในการใช้สาร

   1. ก่อนใช้อ่านฉลากโดยตลอดให้เข้าใจอย่างละเอียดถูกต้องและปฏิบัติตามคำแนะนำโดยเคร่งครัด ไม่ใช้เกินอัตราที่กำหนด และห้ามผสมสารตั้งแต่ 1 ชนิดขึ้นไปในการพ่นครั้งเดียว ยกเว้นกรณีที่แนะนำให้ใช้
   2. ตรวจสอบชิ้นส่วนสำคัญของเครื่องพ่นสาร ดูการรั่วซึมของเครื่อง สายยาง รอยต่อ และประเก็นต่างๆ หากพบให้ทำการซ่อมแซมหรือเปลี่ยนส่วนที่ชำรุดทันที
   3. สวมใส่ชุดป้องกันสาร ได้แก่ เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว รองเท้าบู๊ทยาง ถุงมือยาง แว่นตา หน้ากากให้มิดชิด เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้สารถูกผิวหนัง เข้าตาหรือหายใจเข้าไป
   4. จัดเตรียมอุปกรณ์ที่จำเป็น ตวงสารตามอัตราส่วนที่ฉลากแนะนำโดยใช้ถ้วยตวงหรือช้อน การผสมควรทำอย่างระมัดระวังอย่าใช้มือผสมให้ใช้ไม้กวนหรือคลุกให้เข้ากัน
   5. ขณะที่ฉีดพ่นควรอยู่เหนือลดเสมอ หยุดพักเมื่อลมแรงหรือมีลมหวน และควรพ่นสารในตอนเช้าหรือตอนเย็น
   6. อย่าสูบบุหรี่หรือดื่มน้ำหรือรับประทานอาหารขณะใช้สาร
   7. อย่าใช้ปากเปิดขวดหรือเป่าดูดสิ่งอุดตันที่หัวฉีด ควรทำความสะอาดด้วยแปรงอ่อนๆ หรือต้นหญ้า
   8. ระวังไม่ให้ละอองสารปลิวเข้าหาตัวและถูกคน สัตว์เลี้ยง บ้านเรือน อาหารและเครื่องดื่มของผู้ที่อยู่ข้างเคียง
   9. ในขณะทำงานหากร่างกายเปื้อนสารต้องรีบล้างน้ำและฟอกสบู่ให้สะอาดทันที ก่อนที่สารจะซึมเข้าสู่ร่างกาย
   10. สารที่ผสมเป็นสารละลายแล้วไม่ได้ใช้ ไม่ควรเก็บไว้ใช้อีก ควรฉีดพ่นให้หมดทุกครั้งที่ผสมใช้
   11. ติดป้ายห้ามเข้าบริเวณที่พ่นสารและหยุดพ่นก่อนเก็บเกี่ยวตามที่ฉลากระบุเพื่อความปลอดภัยในการบริโภค
   12. ทำความสะอาดภาชนะบรรจุหรืออุปกรณ์เครื่องพ่นลงไปในพื้นที่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ให้ห่างจากแหล่งน้ำ
   13. ซักเสื้อผ้าที่สวมใส่ขณะพ่นสารแยกต่างหากจากเสื้อผ้าอื่น แล้วอาบน้ำทำความสะอาดร่างกายทันที
   14. ถ้ารู้สึกไม่สบายให้หยุดใช้สารแล้วรีบไปพบแพทย์พร้อมภาชนะบรรจุสารที่มีฉลากปิดอยู่ครบถ้วน หรือปฐมพยาบาลเบื้องต้นตามคำแนะนำในฉลากก่อนส่งสถานีอนามัยและโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด


การขนส่งและการเก็บรักษา

   1. แยกการขนส่งสารกำจัดศัตรูพืชจากสิ่งของอย่างอื่น โดยเฉพาะคน สัตว์ และอาหาร
   2. เก็บสารกำจัดศัตรูพืชไว้ในภาชนะเดิมเท่านั้น อย่าถ่ายภาชนะโดยเด็ดขาด
   3. ควรเก็บสารไว้ในโรงเก็บที่แยกจากที่พักโดยไม่ปะปนกับสิ่งของอื่นๆ หรืออาหาร ปลอดภัยห่างไกลจากเด็ก สัตว์เลี้ยง แหล่งกำเนิดไฟและไม่ชื้นแฉะ ควรติดป้ายเตือนและใส่กุญแจ

การทำลายวัตถุมีพิษและภาชนะบรรจุสาร

   1. เลือกสถานที่จะขุดหลุมฝังภาชนะบรรจุสารที่ใช้หมดแล้วให้ห่างจากแหล่งน้ำและที่พักอย่างน้อย 50 เมตร เป็นพื้นที่ไม่ใช้ประโยชน์ และขุดหลุมลึกอย่างน้อย 1 เมตร ใช้ปูนขาวรองก้นหลุม
   2. ทำลายภาชนะบรรจุโดยการตัดหรือทุบทำลายให้อยู่ในสภาพที่ไม่สามารถที่จะนำไปใช้ประโยชน์ได้อีก แล้วฝังในหลุมที่เตรียมไว้และกลบดินให้มิดชิด
   3. ห้ามนำภาชนะที่ใช้แล้วมาล้าง และนำไปบรรจุสิ่งของอย่างอื่นโดยเด็ดขาด
   4. ห้ามเผาพลาสติกหรือภาชนะบรรจุสารชนิดที่มีความด้นภายใน เพราะจะทำให้เกิดการระเบิดได้
   5. เมื่อมีสารเปรอะเปื้อนพื้นให้ใช้ดินหรือขี้เลื้อยหรือปูนขาวดูดซับและนำไปฝังดินที่ห่างไกลแหล่งน้ำ
   6. ติดป้ายที่ฝังภาชนะบรรจุสารแล้วล้อมรั้วเพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดแก่เก็ดและสัตว์เลี้ยง


อันตรายจากสารกำจัดแมลง

กลุ่มสารกำจัดแมลง   

    1.กลุ่มออร์แกโนฟอสเฟส เป็นสารกำจัดแมลงที่มีฟอสฟอรัสเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ มีพิษค่อนข้างสูง สลายตัวเร็ว มีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนโซม์โคลีนเอสเตอเรสแบบถาวร ตัวอย่างสาร ได้แก่ มาลาไทออน, โมโนโครโตฟอส (อโซดริน), เมวินฟอส (ฟอสดริน), ไตรคลอฟอน (ดิพเทอร์เร็กซ์), ไดเมทโธเอต (ไดเม่), ไดโครโตฟอส (ไบดริน), เม็ทธิลพาราไทออน (โฟลิดอน) เป็นต้น
    อันตราย
    ผู้ป่วยจะมีอาการคลื่นไส้ วิงเวียน ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย กล้ามเนื้อหดตัวเป็นหย่อมๆ แน่นหน้าอก ท้องเดิน ตาพร่า ลิ้นกระตุก เหงื่อและน้ำตาไหล น้ำลายฟูมปาก อุจจาระปัสสาวะราด ชัก หายใจลำบาก อาจหมดสติได้ การเดินของหัวใจผิดปกติ
กลุ่มสารกำจัดแมลง

    2. กลุ่มคาร์บาเมท เป็นสารกำจัดแมลงที่มีไนโตรเจนเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ มีความเป็นพิษสูง สลายตัวเร็ว มีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอ็นไซม์โคลีนเอสเตอเรสแบบชั่วคราว ตัวอย่างสาร ได้แก่ คาร์บาริล (เซฟวิน), คาร์โบฟูราน (ฟูราดาน, คูราแทร์), เม็ทโธมิล (แลนเนท, นิวดริน) เป็นต้น
    อันตราย
    ผู้ป่วยจะมีอาการวิงเวียนมึนงง ปวดศีรษะ อิดโรยและอ่อนเพลียแน่นหน้าอก ตามัว ม่านตาดำเล็กผิดปกติ ปวดเบ้าตา กระวนกระวาย ม่านตาชา คลื่นไส้ อาเจียน กล้ามเนื้อเกร็งและกระตุกทำงานผิดปกติเป็นตระคริวที่ท้อง ท้องร่วง และน้ำลายมาก หายใจลำบาก ชักและสลบ ชีพจรเต้นเร็ว อาจตายเนื่องจากหายใจติดขัดและอื่นๆ
กลุ่มสารกำจัดแมลง

    3. กลุ่มออร์กาโนคลอรีน เป็นสารกำจัดแมลงที่มีคลอรีนเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ กลไกการออกฤทธิ์ยังไม่ทราบแน่ชัด สลายตัวช้า พิษตกค้างนาน ตัวอย่างสาร ได้แก่ ออลดริน ดีลดริน ดีดีทีและเฮปตาคลอร์ ได้ยกเลิกการใช้ แต่เท่าที่ให้ใช้ ได้แก่ สารจำพวกกำจัดเชื้อรา เช่น เตตระไดฟอน, ไดโคฟอล เป็นต้น
    อันตราย
    มีพิษต่อระบบประสาทส่วนกลาง รู้สึกไม่ปกติ กระวนกระวาย ลิ้นชา ปวดศีรษะ การทรงตัว การพูดผิดปกติ บางครั้งชักเกร็งปวดประสาทและระบบหายใจไม่ปกติ อาจเกิดอาการเบื่ออาหาร ผอม หน้าซีด เป็นโรคโลหิตจาง ตับไตเปลี่ยนแปลง และเกิดภาพหลอน อาจตายด้วยระบบหายใจล้มเหลว

    4. กลุ่มสารสังเคราะห์ไพรีทรอยด์ เป็นสารกำจัดแมลงที่มีพิษในธรรมชาติ สกัดได้จากดอกไม้ตระกูลเบญจมาศบางชนิด เป็นสารออกฤทธิ์เร็ว มีพิษค่อนข้างต่ำ สลายตัวเร็ว ที่นิยมใช้แพร่หลาย ได้แก่ ไซเปอร์มีทริน , เฟนวาลิเลท เป็นต้น
    อันตราย
    มีอาการคัน ผื่นแดง บางรายมีอาการจามคัดจมูก ในรายที่เคยเป็นโรคหอบ เมื่อสูดหายใจเอาสารพิษนี้เข้าไป จะทำให้หอบมากขึ้น ถ้าได้รับมากจะมีอาการชัก กล้ามเนื้อกระตุก และเป็นอัมพาต


การป้องกันกำจัดศัตรูพืชอย่างถูกต้องและปลอดภัย

   1. เลือกปลูกพันธุ์พืชที่ต้านทานโรคแมลงศัตรูพืช หรือส่วนขยายพันธุ์พืชที่ปลอดโรค
   2. ดูแลรักษาให้พืชแข็งแรงสมบูรณ์ เช่น รดน้ำพรวนดิน ใส่ปุ๋ย กำจัดวัชพืช ตัดแต่งกิ่ง เป็นต้น
   3. หมั่นสำรวจแปลงสม่ำเสมอ โดยดูสภาพของพืช น้ำ ปุ๋ย ศัตรูธรรมชาติ ศัตรูพืช และความเสียหายที่เกิดขึ้น
   4. วิเคราะห์และตัดสินใจเลือกใช้วิธีการป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่เหมาะสม โดยใช้วิธีผสมผสาน เช่น ปลูกพืชหมุนเวียนหรือพืชคลุมดิน ปรับวันปลูก ใช้กับดัก อนุรักษ์ศัตรูธรรมชาติ นำส่วนที่มีโรคแมลงมาเผาทำลาย การใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชในกรณีที่มีการระบาดมาก เป็นต้น
   5. ถ้าไม่แน่ใจเกี่ยวกับชนิดของโรคแมลงศัตรูพืชหรือมีปัญหาการระบาดของศัตรูพืชและวิธีการป้องกันกำจัด ควรปรึกษาเจ้าหน้าที่ได้ที่ฝ่ายป้องกันและกำจัดศัตรูพืช สำนักงานเกษตรจังหวัด กลุ่มงานอารักขาพืชภาค สำนักงานส่งเสริมการเกษตรภาค สำนักงานเกษตรอำเภอ

   อนึ่งจุดสำคัญของการป้องกันกำจัดศัตรูพืชอย่างถูกต้องและปลอดภัย ก็คือการสร้างจิตสำนึก จรรยาบรรณ และความรับผิดชอบร่วมกันระหว่างหลายฝ่ายไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ เอกชน ผู้ค่าสารเคมีและบุคคลที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเกษตรกรผู้ผลิต ต้องมีความรู้ในเรื่องการผลิตที่ปลอดภัย ไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ผลิต ผู้บริโภคและสภาพแวดล้อม

 

ขอบคุณข้อมูลจาก www.trueplookpanya.com