แมลงศัตรูพืชและการป้องกันกำจัด

แมลงศัตรูพืช

            ศัตรูพืชนับว่าเป็นปัญหาทางการกสิกรรมเป็นอย่างมาก  มากกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ของพืชจะต้อง
สูญเสียและถูกทำลายโดยแมลงศัตรูพืช  ด้วยเหตุนี้เราควรศึกษาและทำความเข้าใจในวงจรชีวิตของ
แมลงศัตรูพืชเหล่านี้ให้ดีเพื่อหาทางป้องกันและกำจัด เพื่อลดความสูญเสียต่อผลผลิตที่อาจเกิดขึ้น
แมลงศัตรูพืช จะแบ่งออกเป็น 6 กลุ่มใหญ่ๆ ตามลักษณะการเข้าทำลายพืช คือ
1. แมลงจำพวกปากกัดกินใบ  ได้แก่ หนอนผีเสื้อ, ตั๊กแตน, ด้วงปีกแข็ง แมลงจำพวกนี้จะกัดกินใบพืช ทำให้พืชขาดส่วนที่จะใช้ในการสังเคราะห์แสง หรือขาดส่วนที่สะสมอาหารเพื่อใช้ในการเจริญเติบโต ทำให้พืชหยุดการเจริญเติบโต
2. แมลงจำพวกดูดกินน้ำเลี้ยง ได้แก่ เพลี้ยชนิดต่างๆ  โดยแมลงเหล่านี้จะใช้ปากแทงเข้าไปในท่อลำเลี้ยงน้ำและอาหารของพืช เพื่อดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบ, ยอดอ่อน, ดอก, ผล หรือส่วนต่างๆ ของพืช ทำให้พืชที่ถูกดูดน้ำเลี้ยงจะมีรอยไหม้  ใบมีลักษณะม้วนงอ พืชไม่เจริญเติบโต  มีขนาดแคระแกรน นอกจากนี้แมลงจำพวกนี้ยังเป็นสาเหตุสำคัญต่อการแพร่กระจายของโรคเชื้อไวรัสชนิดต่างๆ ทำให้พืชอ่อนแอและตายได้
3. แมลงจำพวกหนอนชอนใบ  ได้แก่ หนอนผีเสื้อกลางคืน, หนองแมลงวันบางชนิด  ตัวอ่อนของแมลงจำพวกนี้จะเป็นหนอนที่มีขนาดเล็ก กัดกินเนื้อเยื่อระหว่างผิวใบพืช ทำให้พืชขาดส่วนที่จะใช้สังเคราะห์แสง หรือขาดส่วนที่สะสมอาหารเพื่อใช้ในการเจริญเติบโต ทำให้พืชหยุดการเจริญเติบโต
4. แมลงจำพวกหนอนเจาะลำต้น  ได้แก่ หนอนด้วง, หนอนผีเสื้อ และปลวก  แมลงจำพวกนี้มักจะไข่ไว้ตามใบหรือเปลือกไม้ เมื่อไข่ฟักเป็นตัวหนอน ก็จะชอนไชเข้าไปอยู่ในกิ่ง, ลำต้น หรือผล ของพืชทำให้พืชขาดน้ำและอาหารแล้วแห้งตาย หรือทำให้ผลเน่า หล่นเสียหายได้
5. แมลงจำพวกกัดกินราก  ได้แก่ ด้วงดีด, จิ้งหรีด, แมลงกระชอน, ด้วงดิน, ด้วงงวง ฯลฯ แมลงจำพวกนี้จะอาศัยและวางไข่ลงบนพื้นดิน ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยของแมลงจำพวกนี้จะเข้าทำลายรากพืช ทำให้พืชยืนต้นแห้งตายเนื่องจากขาดน้ำและอาหาร
6. แมลงจำพวกที่ทำให้เกิดปุ่มปม  ได้แก่  ต่อ แตนบางชนิด แมลงจำพวกนี้จะดูดน้ำเลี้ยงและปล่อยสารเคมีบางชนิดที่ทำให้ผิวของพืชมีลักษณะผิดปกติไป เช่นมีลักษณะเป็นปุ่มปม ตามผิวของผลไม้

วิธีป้องกันและกำจัดแมลงศัตรูพืชแบ่งออกได้ 5 วิธีคือ
1. วิธีทางเขตกรรม เช่น การปลูกพืชหมุนเวียน, การทำความสะอาดแปลงปลูก, กำหนดระยะเวลาการเพาะปลูก, การตัดแต่งต้นพืช
2. วิธีทางกายภาพ เช่น การใช้มุ้งป้องกัน, การใช้กาวดักแมลง, การทำลายแหล่งอาศัยของแมลง, การใช้ไฟล่อและทำลาย
3. วิธีทางชีวภาพ  เช่นการใช้ตัวห้ำ ตัวเบียน, การใช้เชื้อรา, การใช้เชื้อแบคทีเรีย, การใช้เชื้อไวรัส
4. วิธีทางพันธุกรรม โดยการนำแมลงศัตรูพืชมาผ่านการฉายรังสีเพื่อให้เป็นหมันแล้วปล่อยไปในธรรมชาติทำให้แมลงนั้นไม่สามารถขยายพันธุ์ได้
5. วิธีทางเคมี  โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มเคมีที่ได้มาจากการสกัดจากธรรมชาติ เช่น ยาเส้น, สะเดา, สาบเสือ, ตะไคร้หอม ฯลฯ และกลุ่มเคมีที่สังเคราะห์ขึ้น เช่น กลุ่มออร์กาโนคลอไรน์, กลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต, กลุ่มคาร์บาเมต, กลุ่มสารสังเคราะห์ไพรีทอย
* สำหรับการควบคุมและกำจัดแมลงศัตรูพืชให้ได้ผลดีนั้น ควรใช้วิธีแบบผสมผสานกันทั้ง 5 วิธีที่กล่าวมาข้างต้น
 
ตัวอย่างแมลงศัตรูพืช และวิธีป้องกันกำจัด

1.ด้วงหมัดผัก (Flea Beetle)   

  
    ด้วงหมัดผักเป็นแมลงปีกแข็งขนาดเล็ก มีวงจรชีวิตจะเริ่มจากตัวเมียวางไข่ในดิน ตัวอ่อนจะอาศัยอยู่ใต้ดินกัดกินรากพืช และส่วนของลำต้น เมื่อโตเต็มวัยจะขึ้นจากดินไปกัดกินใบและยอดอ่อนของผักทำให้ใบพืชเป็นรูพรุน รวมวงจรชีวิตประมาณ 3 - 4 สัปดาห์  พืชที่ด้วงหมัดผักเข้าทำลายมากที่สุดคือพืชในกลุ่ม คะน้า, กวางตุ้ง, กะหล่ำ ฯลฯ 
การป้องกันกำจัด

1. ควรไถตากดินไว้เป็นเวลานานพอสมควร เพื่อทำลายตัวอ่อนและดักแด้ที่อยู่ใต้ดิน นอกจากนี้ควรเปลี่ยนมาปลูก       พืชที่ด้วงหมัดผักไม่ชอบ ก็จะเป็นการช่วยลดการระบาดได้อีกทางหนึ่ง
2. ฉีดพ่นด้วยสารเคมี                                                                                
    
-  คาร์บาริล 85% ดับเบิลยูพี อัตรา 40 - 60 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร ในแหล่งที่ด้วงหมัดผัก ยังไม่สร้างความ                                        ต้านทานต่อสารเคมี  แต่สำหรับแหล่ง ปลูกผักเก่า แมลงมีความต้านทานต่อสารเคมีควรใช้ 
     -  คาร์โบซัลแฟน  20% อีซี อัตรา 50 75 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร 
     -  โพรฟิโนฟอส  50% อีซี อัตรา 30 - 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร
     -  โพรไทโอฟอส 50% อีซี อัตรา 30 -40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร


2.หนอนใยผัก (Plutella xylostella)           


   หนอนใยผัก เป็นแมลงศัตรูที่สำคัญและก่อให้เกิดความเสียหายกับพืชตระกูลกะหล่ำ มักพบระบาดทั่วไปตามแหล่งปลูกผักทั่วโลก แม้ว่าหนอนใยผักมีต้นกำเนิดมาจากเขตร้อนแต่ก็สามารถพบหนอนใยผักมีชีวิตอยู่ได้ในเขตหนาวโดยไม่มีการพักตัว สำหรับในปรเทศไทยนั้นมักพบหนอนใยผักระบาดเป็นประจำตามแหล่งปลูกผักทั่วไป ทั้งนี้เนื่องจากหนอนชนิดนี้มีวงจรชีวิตสั้น มีการแพร่พันธุ์และขยายพันธุ์รวดเร็ว และมีการพัฒนาการวางไข่ได้เร็ว คือ หลังออกจากดักแด้ภายใน 1 วัน สามารถวางไข่ได้ทันทีและวางไข่ได้ตลอดชีวิต ประกอบกับสภาพภูมิอากาศที่เหมาะสมและมีพืชอาหารตลอดปี จึงเป็นสาเหตุให้พบการระบาดของหนอนใยผักตระกูลกะหล่ำดังกล่าวอยู่เสมอ ๆ ปัจจุบันหนอนใยผักได้มีการพัฒนาสร้างความต้านทานต่อสารฆ่าแมลงได้รวดเร็วและหลายชนิด จึงเป็นการยากต่อการป้องกันกำจัดด้วยการใช้สารฆ่าแมลงฉีดพ่นเป็นประจำเพียงอย่างเดียว ดังนั้นจึงต้องใช้หลายๆ วิธีผสมผสานกันจึงสามารถลดการระบาดของหนอนใยผักลงได้

 การป้องกันกำจัด

  1. 1.กับดักกาวเหนียวสีเหลืองจำนวน 80 กับดักต่อไร่ สามารถลดการใช้สารฆ่าแมลงมากกว่า 50 %
              2.การใช้โรงเรือนตาข่ายไนล่อน หรือรู้จักทั่ว ๆ ไปว่าผักกางมุ้ง พบว่า สามารถป้องกันแมลงศัตรูพวกหนอนผีเสื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ (พบด้วงหมัดผัก เพลี้ยอ่อน บ้างเล็กน้อย ) ทั้งนี้โรงเรือนตาข่ายไนล่อนต้องปิดอย่างมิดชิด เพื่อป้องกันแมลงที่อาจเล็ดลอดเข้าไป            
              3.การควบคุมหนอนใยผักโดยวิธีใช้แตนเบียนไข่ จากการทดลองปล่อยแตนเบียนไข่ในอัตรา 60,000ตัวต่อไร่   ทุก ๆ 10 วัน พบว่าสามารถควบคุมการระบาดของหนอนใยผักให้อยู่ในระดับต่ำกว่าระดับการทำลาย แต่หากมีการระบาดของแมลงศัตรูชนิดอื่นๆ อยู่ร่วมด้วย เช่น หนอนกระทู้หอม, ด้วงหมัดผัก หนอนเจาะหยอดกะหล่ำ ควรพิจารณาการใช้ร่วมกับวิธีการอื่น ๆ เช่น การใช้เชื้อไวรัส NPV ควบคุมการระบาดของหนอนกระทู้หอม การใช้ไส้เดือน ฝอยควบคุมการระบาดของด้วงหมัดผัก และบางครั้งอาจต้องใช้สารฆ่าแมลงหากมีการระบาดของหนอนเจาะยอดกะหล่ำเป็นต้น ซึ่งจะต้องมีการพัฒนาศึกษาเพื่อหารูปแบบที่เหมาะสมต่อไป
               4.การใช้สารฆ่าแมลง หากพบหนอนใยผักระบาดพ่นด้วย อะบาเม็กติน1.8% EC แบคทีเรีย (Bt.) ไดอะเฟนไทยูเอน 25 % SC  คลอร์ฟีนาเพอร์ 10 % SC  ฟิโปรนิล 5 %SC เป็นต้น โดยแนะนำให้มีการฉีดพ่นสลับพบว่าให้ผลดีในการป้องกันกำจัดหนอนใยผัก


3.หนอนเจาะดอก (Jessamine Flower caterpillar)           

              

หนอนชนิดนี้จะระบาดมากในฤดูฝน ทำให้ดอกเสียหายมาก โดยการเจาะกัดกินดอก ทำให้ดอกเป็นรูและผิดรูปร่าง เมื่อหนอนดูดกินน้ำเลี้ยงจากดอกจะทำให้กลีบดอกเปลี่ยนเป็นสีชมพูอมม่วง หนอนเจาะดอกจะมีการระบาดมากกว่าแมลงตัวอื่น ๆ หากป้องกันกำจัดไม่ทันจะเกิดความเสียหายมาก 

การป้องกันและกำจัด 
1. ทำความสะอาดบริเวณโคนต้นโดยการเก็บเศษพืชนำไปเผาทำลายเพื่อป้องกันการเข้าดักแด้ของหนอนเจาะดอก
2. ตัดแต่งทรงพุ่มให้โปร่งเพื่อไม่ให้เป็นแหล่งอาศัยของตัวเต็มวัย
3. ใช้กับดักแสงไฟดักล่อตัวเต็มวัยมาทำลาย

4. ใช้สารเคมีจำพวก เมทโธมิล ,คลอไพริฟอส ฉีดพ่น เมื่อพบการระบาด 

 

4.หนอนกระทู้หอม (Beet armyworm)       

ลักษณะการทำลาย   ในกล้วยไม้ หนอนจะกัดกินเฉพาะส่วนดอก ในกุหลาบ ดาวเรือง เบญจมาศ และมะลิ หนอนจะกัดกินทุกส่วนของพืช โดยหนอนเมื่อฟักออกจากไข่จะเริ่มกัดกินส่วนต่างๆของพืช แต่ยังไม่ก่อให้เกิดความเสียหายมากนัก ความเสียหายจะพบรุนแรงกับหนอนระยะตั้งแต่วัย 3 ขึ้นไป ถ้าหนอนระบาดทำลายในระยะพืชยังเล็กจะทำให้พืชตายได้ ถ้าทำลายในระยะที่มีดอก จะทำให้ดอกเกิดรอยแหว่ง ไม่เป็นที่ต้องการของตลาด

การแพร่กระจายและฤดูกาลระบาด พบหนอนกระทู้หอมระบาดทั่วไปตามแหล่งปลูกผักและไม้ดอกในบริเวณภาคกลางและภาคตะวันตก และมักพบระบาดรุนแรงในฤดูหนาวและฤดูร้อน

พืชอาหาร หนอนกระทู้หอมทำลายพืชเศรษฐกิจของประเทศไทยมากกว่า 30 ชนิด พืชอาหารที่สำคัญ ได้แก่ พืชผักตระกูลกะหล่ำ หอมแดง หอมหัวใหญ่ หน่อไม้ฝรั่ง มันเทศ ถั่วลันเตา ถั่วฝักยาว กระเจี๊ยบเขียว เผือก มะเขือเทศ มะระ พริก แตงโม เป็นต้น ในพืชไร่ ได้แก่ ถั่วเหลือง ถั่วลิสง ถั่วเขียว ฝ้าย ข้าวโพด ในไม้ผลพบเข้าทำลายองุ่น ในไม้ดอก ได้แก่ เบญจมาศ กุหลาบ มะลิ ดาวเรือง และกล้วยไม้ 


การป้องกันและกำจัด
1. โดยวิธีกล เก็บกลุ่มไข่และหนอนไปทำลาย วิธีนี้ได้ผลดีและลดการระบาดลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2. ใช้สารป้องกันและกำจัดแมลง ได้แก่ คลอฟีนาเพอร์ อัตรา 25 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร 

5.เพลี้ยไฟ (Thrips)


 

       เพลี้ยไฟเป็นแมลงศัตรูพืชขนาดเล็ก มีสีเหลืองนวล เหลืองปนน้ำตาล น้ำตาลเข้มและสีดำ มีทั้งชนิดมีปีกและไม่มีปีก ปีกมีลักษณะเป็นแผ่นบางใส มีขนยาวรอบขอบปีก ปีกแบนราบขนานกันบนสันหลังหรือสามารถซ้อนลำตัวได้ ส่วนท้องมีลักษระเรียวยาว มีจำนวนปล้อง 10 ปล้อง เพลี้ยไฟเป็นแมลงที่มีเขตการแพร่กระจายไปทั่วโลก ทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยสามารถทำลายพืชได้ โดยใช้กรามเขี่ยวดูดน้ำเลี้ยงจากเซลล์พืชในส่วนยอด ตาอ่อน ใบ ดอกและผล ทำให้ใบเกิดรอยด่าง สีซีด หรือทำให้ขอบใบแห้ง ตาอ่อนชะงักการเจริญเติบโต กลีบดอกมีสีซีด โดยเฉพาะกลีบดอกที่มีสีเข้มจะเห็นการทำลายได้อย่างชัดเจน บางครั้งพบลักษณะเป็นรอยแผลสีน้ำตาล

นอกจากนี้ความเสียหายจากเพลี้ยไฟยังเกิดจากสิ่งขับถ่ายที่เพลี้ยไฟถ่ายออกมามีลักษณะคล้ายหยดน้ำเล็กๆ ติดอยู่ตามส่วนต่างๆ ของพืชหยดน้ำเหล่านี้เมื่อแห้งจะทำให้พืชเกิดรอยตำหนิเป็จุดดำ ที่สำคัญเพลี้ยไฟบางชนิดสามารถเป็นพาหะนำเชื้อไวรัสมาสู่พืช ซึ่งการถ่ายทอดเชื้อไวรัสเกิดจากเพลี้ยไฟตัวอ่อนระยะแรกรับเชื้อไวรัส และเมื่อเป็นตัวเต็มวัยจะถ่ายทอดเชื้อนี้ให้กับพืชทางน้ำลาย การสืบพันธุ์ของเพลี้ยไฟมีทั้งแบบไม่อาศัยเพศและอาศัยเพศ ถ้าเป็นแบบไม่อาศัยเพศลูกที่ได้จะเป็นตัวผู้ทั้งหมด หลังจากผสมพันธุ์แล้วจะวางไข่ เพลี้ยไฟสามารถแพร่กระจายไปตามแหล่งต่างๆ ได้ง่าย โดยอาศัยลมเป็นพาหะ พบได้ตามแหล่งปลูกพืชผัก พืชไร่ และไม้ดอกทั่วทุกภาพของประเทศไทย​

การป้องกันกำจัดเพลี้ยไฟ ให้ใช้สารเคมีตามคำแนะนำ ได้แก่

- ฟิโปรนิล 5% เอสซี อัตรา 20 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร
- อิมิดาโคลพริด 70% ดับบลิวจี อัตรา 2 กรัม/น้ำ 20 ลิตร

 

6.เพลี้ยอ่อน (Aphids)   

ลักษณะการทำลาย      เพลี้ยอ่อน ทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยจะดูดกินน้ำเลี้ยงตามใบ ยอดอ่อนและดอกทำให้หงิกงอเป็นคลื่น หากมีการระบาดมาก ๆ จะทำให้ไม้ดอกเหี่ยวและอ่อนแอ ไม่ออกดอก บริเวณที่มีเพลี้ยอ่อนระบาดมักจะพบเห็นมดอาศัยกินน้ำหวานที่เพลี้ยอ่อนถ่ายออกมาก จะทำให้เกิดราดำ

รูปร่างลักษณะ     เพลี้ยอ่อน เป็นแมลงปากดูดที่มีขนาดเล็ก ผนังลำตัวอ่อนนุ่ม ขยายพันธุ์ได้โดยไม่ต้องมีการผสมพันธุ์และออกลูกเป็นตัว มีทั้งชนิดมีปีก และไม่มีปีก ทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยมีลักษณะคล้ายคลึงกันมาก ต่างกันที่ขนาดและสี เจริญเติบโตลอกคราบ 4-5 ครั้ง ตัวเต็มวัยขนาด โตเต็มที่ประมาณ 1 มิลลิเมตร สีลำตัวมีตั้งแต่สีเขียวอ่อนไปจนถึงสีดำเข้ม ที่ปลายส่วนท้องจะมีท่อเล็ก ๆ ยื่นยาวออกมา 2 ท่อ เพลี้ยอ่อนตัวหนึ่ง ๆ จะให้ลูกได้ประมาณ 27 ตัว ระยะตัวอ่อนประมาณ 5-6 วัน ระยะตัวเต็มวัยประมาณ 3-14 วัน อายุเฉลี่ย 11 วัน

การแพร่กระจาย     เพลี้ยอ่อนจะพบเห็นอยู่ทั่วไปตลอดปี การกระจายตัวของเพลี้ยอ่อนเป็นแบบรวมกลุ่ม ปกติจะไม่เกิดการระบาด เพราะธรรมชาติคอย ควบคุม เช่น ปริมาณน้ำฝน ศัตรูธรรมชาติ แต่ถ้าฝนทิ้งช่วงหรือในฤดูแล้ง อากาศร้อนจะเกิดการระบาดของเพลี้ยอ่อน

พืชอาหาร ใบไม้ดอก เช่น ดาวเรือง กุหลาบ เบญจมาศ ดอกรัก ชบา ยี่โถ บานชื่น แม้แต่บัว ฯลฯ ในพืชไร่ชนิดต่าง ๆ ในพืชผัก ฯลฯ

ศัตรูธรรมชาติ มีทั้งตัวห้ำและตัวเบียนหลายชนิด เช่น แมลงช้างปีกใส, ด้วงเต่าหลายชนิด, แมลงวันกินขยะ

การป้องกันและกำจัด

- พยายามสำรวจแปลงปลูกพืช หากพบศัตรูธรรมชาติมีปริมาณมากให้ปล่อยไว้ สำหรับในฤดูแล้งหากพบมีการระบาดมากให้ใช้สารสกัด จากสะเดา หรือยาสูบฉีดพ่น
- หากมีการระบาดรุนแรงศัตรูธรรมชาติไม่สามารถควบคุมได้ ใช้สารเคมี oxydemeton-methyl หรือ omethoate หรือ carbosulfan หรือ methamidophos อย่างใดอย่างหนึ่งฉีดพ่นตามอัตราที่ฉลากระบุ หลังจากนั้น 7 วัน ให้สำรวจ แปลงดูหากยังมีการระบาดอยู่ให้ฉีดพ่นซ้ำอีกครั้ง

7.แมลงหวี่ขาว (White fly)

ลักษณะการทำลาย   แมลงหวี่ขาว เป็นแมลงศัตรูปากดูดขนาดเล็ก มักอยู่รวมกันเป็นกลุ่มใต้ใบพืช แมลงหวี่ขาวเท่าที่พบมาไม่ได้เป็นศัตรูสำคัญของถั่วเหลือง และพบเห็นเป็นประจำในแปลงถั่วเหลือง แต่ในปัจจุบัน แมลงหวี่ขาวเริ่มปรากฏให้เห็นว่าเป็นแมลงศัตรูที่ควรเอาใจใส่ พบระบาดและทำความเสียหายให้กับการปลูกถั่วเหลืองในแหล่งปลูกภาคเหนือและภาคกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถั่วเหลืองที่ปลูกโดยอาศัยน้ำชลประทานหรือปลูกช่วงต้นฤดูฝนและฝนทิ้งช่วงนานแมลงหวี่ขาวจะเข้าทำลายทุกระยะการเจริญเติบโตของถั่วเหลือง โดยทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยอาศัยดูดกินน้ำเลี้ยงอยู่ใต้ใบพืช การทำลายของตัวอ่อนทำให้เกิดเป็นจุดสีเหลืองบนใบพืช ส่วนการทำลายของตัวเต็มวัยจะทำให้ใบพืชหงิกงอ ต้นแคระแกรนเหี่ยวและขนาดของฝักเล็ก นอกจากนี้ ยังขับถ่ายน้ำหวาน (Honey dew) ออกมา ก่อให้เกิดราดำบนใบพืชเช่นเดียวกับเพลี้ยอ่อน และยังเป็นพาหะของโรควิสาหลายชนิดของถั่วเหลือง เช่น โรคใบด่างกระถั่วเหลืองโรคใบด่างเหลืองและโรคใบยอดย่นถั่วเหลือง ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผลผลิตของถั่วเหลืองลดลง

พืชอาหาร   ยาสูบ มะเขือเทศ ฝ้าย ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วลิสง ปอแก้วและวัชพืชบางชนิดการแพร่กระจายและฤดูกาลระบาดเนื่องจากแมลงหวี่ขาวมีพืชอาหารหลายชนิดจึงพบระบาดตลอดทั้งปี สำหรับถั่วเหลืองพบระบาดตั้งแต่ถั่วเหลืองอยู่ในระยะใบประกอบข้อที่ บาน เต็มที่ถึงระยะฝักเต่ง ปริมาณการระบาดสูงสุดในระยะถั่วเหลืองเริ่มติดฝักอ่อนจนถึงระยะฝักเต่งและระบาดมากในสภาพอากาศร้อนชื้น

การป้องกันกำจัด
1. กำจัดวัชพืชทั้งในและรอบ ๆ แปลงถั่วเหลือง
2. หลีกเลี่ยงการใช้สารฆ่าแมลงกลุ่มไพรีทรอยสังเคราะห์
3. ติดกับดักกาวเหนียวสีเหลืองรอบแปลงถั่วเหลืองเพื่อเตือนการระบาดของแมลงหวี่ขาว
4. พ่นสารฆ่าแมลงชนิดใดชนิดหนึ่ง เมื่อพบการระบาดของตัวเต็มวัย ใช้อัตราของสารฆ่าแมลงต่อน้ำ 20 ลิตร ดังนี้ triazophos 40% EC อัตรา 40 มิลลิลิตร หรือ imidacloprid 10% SL และ 5%EC อัตรา 10 และ 20 มิลลิลิตร หรือ carbosulfan 20%EC อัตรา 40 มิลลิลิตร หรือ Petrolium oil 99% หรือ Petrolium spray oil 83.9%EC อัตรา 60 มิลลิลิตร
5. เนื่องจากทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยของแมลงหวี่ขาวจะทำลายอยู่ด้านใต้ใบพืช จึงควรพ่นสารด้านใต้ใบพืชให้ทั่ว
6. ไม่ควรพ่นสารฆ่าแมลงชนิดใดชนิดหนึ่งติดต่อกันหลายครั้ง

 

8.ด้วงงวงมันเทศ (Sweet potato weevil)

ลักษณะการทำลาย ด้วงงวงมันเทศเป็นแมลงศัตรูที่สำคัญที่สุดของมันเทศ โดยตัวเต็มวัยจะทำลายทุกส่วนของพืชในขณะที่ตังหนอนทำลายในหังและเถา สำหรับหัวมันเทสที่ถูกทำลายจะมีลักษณะเป็นทางคดเคี้ยว มีสีเขียวและสีดำ แม้ถูกทำลายเพียวเล็กน้อยก็ไม่สามารถรับประทานได้ เพราะมีกลิ่นเหม็นและรสขม หัวมันเทศที่ถูกทำลายรุนแรงบางครั้งเน่าและมีกลิ่นเหม็น ในช่วงเดือนแรกจะพบด้วงงวงมันเทศทำลายมันเทศเฉพาะบริเวณต้นและเถาเท่านั้น เมื่อมันเทศอายุ 1.5 เดือน ซึ่งเป็นระยะเริ่มมีหัว จะพบด้วงงวงมันเทศเริ่มเข้าทำลาย แต่บางแหล่งปลูกก็พบเมื่ออายุ 2-2.5 เดือน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแหล่งปลูกและความรุนแรงของการระบาด การแพร่กระจายของด้วงงวงมันเทศมีแนวโน้มว่าเป็นแบบรวมกลุ่ม ด้วงงวงมันเทศชอบออกบินในช่วงเวลา 20.00 – 21.00 น. ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเพศผู้ ส่วนช่วงเช้า ( 8.00-9.00น.) และกลางวัน (12.00-13.00น.) ไม่พบตัวเต็มวัยออกบิน จำนวนตัวเต็มวัยจะพบมากขึ้น เมื่อพืชอายุมากขึ้นและพบสูงสุดในช่วงเก็บเกี่ยวหัวมันเทศ
พืชอาหาร มันเทศ ผักบุ้ง และวัชพืชตระกูลเดียวกับมันเทศ
การป้องกันกำจัด
1. วิธีเขตกรรม หลีกเลี่ยงการปลูกมันเทศในแหล่งที่มีการระบาดของด้วงงวงมันเทศ หลีกเลี่ยงการปลูกมันเทศซ้ำที่เดิม ถ้าเป็นไปได้ควรปลูกหมุนเวียนโดยใช้พืชต่างตระกูลกับมันเทศ ควรใช้เถามันเทศที่สมบูรณ์ แข็งแรง ปราศจากด้วงงวงมันเทศมาปลูก กำจัดวัชพืชที่เป็นตระกูลเดียวกันกับมันเทศ บริเวณรอบๆ แปลงปลูกมันเทศออกให้หมด
2. ใช้สารฆ่าแมลงที่มีประสิทธิภาพ เช่น คาร์โบซัลแฟน 20% อีซี อัตรา 100ซีซี หรือ ฟิโปรนิล 5% เอสซี อัตรา 20ซีซี ./น้ำ 20 ลิตร ตามลำดับ

 

ขอบคุณภาพจาก : หนังสือ 'โรคและแมลงศัตรูพืชที่สำคัญ' โดย อ.พิสุทธิ์ เอกอำนวย