โรคพืชและการป้องกันกำจัด

 โรคพืชและการป้องกันกำจัด

 โรคพืช หมายถึง สภาวะที่ต้นพืชมีการทำงานที่ผิดปกติจนมีผลเสียหายต่อพืช เกิดจากสาเหตุ ๒ ประการ คือ โรคที่เกิดจากสิ่งมีชีวิต และโรคที่เกิดจากสิ่งไม่มีชีวิต

1. โรคที่เกิดจากสิ่งมีชีวิต    เรียกว่า โรคติดเชื้อ สามารถแพร่ระบาดติดต่อมาสู่พืชได้ เช่น เชื้อรา เชื้อแบคทีเรียเชื้อไวรัส เชื้อไฟโตพลาสมา และไส้เดือนฝอยซึ่งเป็นตัวพยาธิ เชื้อโรคพืชเหล่านี้ ทำให้พืชแสดงอาการโรคหลายแบบ ได้แก่ รากเน่า ต้นเหี่ยวตาย ใบเป็นจุด ใบไหม้ ใบด่าง ยอดเป็นพุ่มไม้กวาด หรือผลเน่า

ใบจุดในพริก

2. โรคที่เกิดจากสิ่งไม่มีชีวิต   เรียกว่า โรคไม่ติดเชื้อ ไม่แพร่ระบาดติดต่อ เกิดจากสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เช่น ธาตุอาหารไม่เพียงพอ ดินเป็นกรดหรือด่าง มากเกินไป อากาศร้อน แสงแดดจัด แห้งแล้ง น้ำขัง มีมลพิษในอากาศ ทำให้พืชแสดงอาการต่างๆ เช่น ใบเหลืองซีด ใบร่วง ใบไหม้ ต้นไม่เจริญเติบโต แคระแกร็น ผลผลิตลดลง

โรคที่เกิดจากการขาดธาตุสังกะสี

  หลักการเกิดโรคพืชหรือสามเหลี่ยมโรคพืช
 ในธรรมชาติ การที่พืชเป็นโรคเกิดจากปัจจัยสำคัญ 3 ประการคือ

  • สาเหตุของโรค
  • พืชที่อ่อนแอ
  • สภาพแวดล้อมที่อำนวยให้เกิดโรค
เมื่อใดที่มีปัจจัยดังกล่าวครบทั้ง 3 ประการ พืชก็จะเป็นโรค กระบวนการนี้ จึงนิยมเรียกกันว่า สามเหลี่ยมโรคพืช

               เราสามารถนำหลักการของสามเหลี่ยมโรคพืชมาใช้ในการจัดการหรือการควบคุมไม่ให้พืชเป็นโรค โดยการควบคุมทั้ง 3 ปัจจัย ได้แก่ ควบคุมไม่ให้มีสาเหตุของโรคพืช ควบคุมไม่ให้พืชอ่อนแอ และควบคุมสภาพแวดล้อมไม่ให้เหมาะกับการเกิดโรค  การควบคุมโรคมีหลายวิธี อาจใช้วิธีเดียวหรือหลายวิธีร่วมกันโดยวิธีผสมผสาน ซึ่งเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด 

              โรคพืชที่เกิดจากสิ่งไม่มีชีวิตเช่น โรคขาดธาตุอาหารต่างๆ ทั้งธาตุอาหารหลักและธาตุอาหารรอง หากพืชขาดธาตุอาหาร จะทำให้พืชมีผลผลิตลดลงทั้งปริมาณและคุณภาพ การจัดการโรคพืชที่เกิดจากการขาดธาตุอาหาร กระทำได้ง่าย โดยการใส่ธาตุอาหารที่ขาดให้แก่พืชตามปริมาณที่พืชต้องการ พืชก็สามารถนำธาตุอาหารดังกล่าวไปใช้ และมีการเจริญเติบโตให้ผลผลิตที่มีปริมาณและคุณภาพตามปกติ  เช่น 

  • ขาดธาตุไนโตรเจน (N) :   ใบแก่แสดงอาการใบเหลือง (chlorosis) ทำให้ต้นแคระ เมื่อเปรียบเทียบกับต้นที่ได้รับ N เพียงพอ
  • ขาดธาตุฟอสฟอรัส (P) :   ใบแก่จะเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีม่วงแล้วกลายเป็นสีน้ำตาลและหลุดร่วงลำต้นแกร็นไม่ผลิดอกออกผล
  • ขาดธาตุโพแทสเซียม (K) :   ใบแก่แสดงอาการใบเหลือง และมีการตาย ของเนื้อใบด้วย

               โรคพืชที่เกิดจากสิ่งมีชีวิตเนื่องจากเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคแต่ละชนิดทั้งที่เกิดจากเชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส เชื้อไฟโตพลาสมา และเชื้อไวรอยด์ ต่างมีวิธีการจัดการโรคที่แตกต่างกัน เราจึงต้องเลือกใช้วิธีการที่เหมาะสมกับเชื้อสาเหตุ ของโรคแต่ละชนิด นอกจากนี้โรคพืชที่เกิดจากสิ่งมีชีวิตจะพบมาก และมีการแพร่ระบาดทำความเสียหายให้แก่พืชมากกว่าโรคพืช ที่เกิดจากสิ่งไม่มีชีวิต เกษตรกรจึงต้องมีวิธีการจัดการโรคดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพ 
 

หลักการป้องกันกำจัดโรคพืช มี  6 วิธีการ คือ

1. การหลีกเลี่ยงโรค  หมายถึง การจัดการปลูกพืชโดยหลีกเลี่ยงการปลูกพืชในช่วงที่มีสภาพแวดล้อมที่ง่ายต่อการเกิดโรค หรือช่วงที่มีโรคระบาดตลอดจนไม่ปลูกพืชในดินที่มีความเป็นกรดเป็นด่างมากเกินไป หรือขาดธาตุอาหาร

2. การกีดกัน หมายถึง การจัดการไม่ให้เชื้อโรคเข้ามาสู่บริเวณที่ปลูกพืชโดยใช้มาตรการทางกฎหมายจำกัดการนำวัสดุ หรือพันธุ์พืช ที่อาจมีเชื้อสาเหตุของโรคเข้าประเทศ หรือเข้ามาในพื้นที่ที่ไม่เคยมีเชื้อโรคพืชชนิดนั้นๆ ระบาดมาก่อน 
 
3. การป้องกัน หมายถึง การป้องกันการเข้าทำลายพืชของเชื้อโรค โดยไม่ให้เชื้อโรคสัมผัสกับพืชด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การปลูกพืชกันลม เป็นการลดการแพร่ระบาดของโรคที่อาศัยลมเป็นตัวนำมาสู่พืช การปลูกพืชในโรงเรือนเพื่อควบคุมสภาพแวดล้อม ป้องกันเชื้อโรคหรือแมลงพาหะไปสัมผัสกับพืช หรือการใช้สารเคมีในการป้องกันการเข้าทำลาย ของเชื้อโรค เช่น การใช้สารเคมีคลุกเมล็ดพืชที่จะปลูก และการใช้สารเคมีทำลายเชื้อโรคในดินก่อนปลูกพืช


4. การทำลายให้หมดไป หมายถึง การกำจัดหรือการทำลายแหล่งสะสมเชื้อโรคให้หมดไป โดยการเผาทำลายพืชที่เป็นโรค เพื่อไม่ให้มีเชื้อโรคเหลืออยู่เมื่อตรวจพบเชื้อโรค  

5. การใช้พันธุ์ต้านทานโรค หมายถึง การเลือกปลูกพืชที่มีความต้านทานโรค ทำให้เกิดโรคน้อยลง หรือเกิดโรคช้าลง

6. การรักษา หมายถึง การรักษาพืชที่เป็นโรคแล้ว เพื่อให้หายเป็นปกติหรือให้ผลผลิตตามต้องการ โดยส่วนใหญ่จะใช้สารเคมีสังเคราะห์  เช่น สารเคมีกำจัดเชื้อรา สารเคมีกำจัดเชื้อแบคทีเรีย สารเคมีกำจัดไส้เดือนฝอย ทั้งนี้ เกษตรกรจำเป็นต้องมีความรู้ในเรื่องการออกฤทธิ์ของตัวยาและวิธีการใช้ ของสารเคมีแต่ละชนิด เพื่อให้ตรงกับชนิดของเชื้อโรคที่เข้าทำลายพืช จึงจะได้ผลดีในการควบคุมโรค และไม่มีผลเสียต่อผู้ใช้   ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม 

ตัวอย่างโรคที่ทำให้เกิดความเสียหายให้กับพืช

          1. โรคที่เกิดจากเชื้อรา ได้แก่ โรคราสนิม,โรคราเขม่าดำ, โรค ergot ของข้าวไรน์และข้าวสาลี, โรคใบไหม้มันฝรั่ง, โรคราน้ำค้างองุ่น, โรคใบจุด สีน้ำตาลข้าว
          2. โรคที่เกิดจากไวรัส ได้แก่ โรคใบด่างอ้อย
          3. โรคที่เกิดจากแบคทีเรีย ได้แก่ โรคแคงเกอร์ของพืชตระกูลส้ม
          4. โรคที่เกิดจากไส้เดือนฝอย ได้แก่ โรครากปม